วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

มหาพีระมิดแห่งกีซา

พีระมิดคูฟู หรือ พีระมิดคีออปส์ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า มหาพีระมิดแห่งกีซา 
The Great Pyramid of Giza) เป็นพีระมิดในประเทศอียิปต์ที่มีความใหญ่โตและเก่าแก่ที่สุด ในหมู่พีระมิดทั้งสามแห่งกีซา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัย ฟาโรห์คูฟู (Khufu) แห่งราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งปกครองอียิปต์โบราณ เมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล หรือกว่า 4,600 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระศพ ไว้รอการกลับคืนชีพ ตามความเชื่อของชาวอียิปต์ในยุคนั้น มหาพีระมิดนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเป็นหนึ่งเดียว ในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณ ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน



เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยของฟาโรห์คูฟู มหาพีระมิด มีความสูงถึง 147 เมตร (481 ฟุต หรือประมาณเท่ากับอาคารสูง 40 ชั้น เมื่อคิดความสูงที่ชั้นละ 3.5 เมตร) นับจากก่อสร้างแล้วเสร็จ พีระมิดคูฟูนับเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลก เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 43 ศตวรรษ จนกระทั่ง มีการก่อสร้าง มหาวิหารลินคอล์น (Lincoln Cathedral) ที่ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมียอดวิหารสูง 160 เมตร ในปี พ.ศ. 1843 (ค.ศ. 1300) ซึ่งต่อมายอดวิหารนี้ถูกพายุทำลายในปีพ.ศ. 2092 (ค.ศ. 1549) แต่ขณะนั้นส่วนยอดพีรามิดคูฟูก็สึกกร่อนลงจนมีความสูงไม่ถึง 140 เมตร ทำให้ วิหารเซนต์โอลาฟ (St. Olav's Church) ในประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2062 (ค.ศ. 1519) กลายเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลกด้วยความสูงของยอดวิหาร 159 เมตร ปัจจุบันมหาพีระมิดมีความสูง ประมาณ 137 เมตร ซึ่งต่ำกว่าเมื่อแรกสร้างประมาณ 10 เมตร และรัฐบาลอียิปต์ได้ดำเนินการติดตั้ง โครงโลหะเพื่อแสดงถึงความสูงที่แท้จริง ขณะก่อสร้างแล้วเสร็จ ไว้ที่ส่วนยอดของ มหาพีระมิดคูฟู
รูปทรงของพีระมิดมีลักษณะเฉพาะตัว ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประกอบด้วยด้านสามเหลี่ยม 4 ด้าน ยอดสามเหลี่ยมแต่ละด้าน เอียงเข้าบรรจบกัน เป็นยอดแหลม ฐานทั้ง 4 ด้านของพีระมิด กว้างด้านละประมาณ 230 เมตร (756 ฟุต กว้างกว่า สนามฟุตบอล ต่อกัน 2 สนาม) คิดเป็นพื้นที่ฐานประมาณ 53,000 ตารางเมตรหรือประมาณ 33 ไร่ ฐานล่างสุดของพีระมิด ก่อขึ้นบนชั้นหินแข็ง ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นทราย เพื่อป้องกันปัญหา การทรุดตัวของชั้นทราย ซึ่งจะมีผล กับความคงทนแข็งแรง ของโครงสร้างพีระมิด ผิวหน้าแต่ละด้านของ พีระมิดคูฟู ทำมุมเอียงประมาณ 52 องศา ซึ่งมีส่วนทำให้พีระมิด คงทนต่อการสึกกร่อน อันเนื่องมาจากพายุทราย
ตามที่มีข้อมูลปรากฏในแหล่งต่างๆ อ้างถึง จำนวนหิน ที่นำมาก่อสร้าง พีระมิดคูฟู ต่างกันไปตั้งแต่ 2 ล้านถึง 2.6 ล้านก้อน ประมาณน้ำหนักเฉลี่ยก้อนละ 2.5 ตัน โดยจัดเรียงซ้อนกันขึ้นไปประมาณ 200 ชั้น คิดเป็นน้ำหนักรวมกว่า 6 ล้านตัน
สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือด้านทั้ง 4 ของพีระมิดหันออกในแนวทิศ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ถูกต้องแม่นยำตามทิศจริงไม่ใช่ตามทิศเหนือแม่เหล็ก จึงไม่ใช่การกำหนดทิศด้วยเข็มทิศ ตำแหน่งของพีระมิดนั้น คลาดเคลื่อนจากทิศเหนือเพียง 3 ลิปดา 6 ฟิลิปดา แสดงถึงความสามารถของ ชาวอียิปต์โบราณ ในการประยุกต์ความรู้ทางดาราศาสตร์ มาใช้ในการกำหนดทิศทางได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้คนงานก่อสร้างพีระมิดคูฟูยังสามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรงน่าทึ่ง โดยหินตรงส่วนฐานของพีระมิดจัดวางได้เสมอกัน มีความคลาดเคลื่อน เพียงไม่ถึง 2.5 เซนติเมตร และแต่ละด้านของฐานพีระมิด มีความกว้างคลาดเคลื่อนจากกัน เพียงไม่เกิน 8 นิ้ว หรือคิดเป็นเพียง 0.09 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดงานก่อสร้าง และระดับเทคโนโลยีในขณะนั้น

วิธีการสร้างมหาพีระมิดแห่งกิซ่า


วิธีการยกแท่งหินขนาดใหญ่หนักหลายสิบตัน เพื่อประกอบขึ้นเป็นพีระมิดอย่างแม่นยำยังเป็นปริศนา โครงสร้างเหนือห้องเก็บโลงพระศพ ในพีระมิดคีออปส์ ประกอบขึ้นด้วย แท่งหินแกรนิตสีแดงขนาดใหญ่หลายสิบแท่งซ้อนทับกัน 5 ชั้น แต่ละแท่งมีน้ำหนัก 50 ถึง 70 เมตริกตัน แท่งหินขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบในหมู่พีระมิดกิซ่าอยู่ภายในวิหารข้างพีระมิดเมนคีเรเป็นแท่งหินปูนที่มีน้ำหนักมากถึง 200 เมตริกตัน เป็นน้ำหนักประมาณเท่ากับชิ้นส่วนหนักที่สุดภายในเรือไททานิค ซึ่งไม่มีปั้นจั่นใดๆ ในอู่ต่อเรือขณะนั้นสามารถยกได้ จนผู้สร้างเรือต้องว่าจ้างทีมงาน ชาวเยอรมัน มาสร้างปั้นจั่นยักษ์สำหรับยกชิ้นส่วนดังกล่าว
เฮโรโดตุส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งเดินทางไปอียิปต์ช่วง 450 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2 พันปีเศษหลังจากพีระมิดสร้างเสร็จ ได้บันทึกคำบอกเล่าของนักบวชชาวอียิปต์โบราณไว้ว่า ในการสร้างพีระมิดชาวอียิปต์โบราณมีอุปกรณ์บางอย่างทำด้วยไม้ใช้สำหรับยกหินขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามไม่พบหลักฐานอื่นๆ ที่อ้างอิงถึงเครื่องมือนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด หรือบันทึกโบราณ เฮโรโดตัสยังได้บันทึกไว้ว่าการก่อสร้าง พีระมิดคูฟู ทำเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากซึ่งประชากรว่างจากการเพาะปลูก นั่นคือ ประมาณปีละ 3 - 4 เดือน และก่อสร้างอยู่ 20 ปี จึงแล้วเสร็จ
เนื่องจากเทคโนโลยีในขณะนั้นยังไม่มีระบบปั้นจั่นไม่รู้จักแม้กระทั่งล้อเลื่อน และไม่มีหลักฐานการใช้พาหนะที่ลากด้วยแรงสัตว์ การเคลื่อนย้ายหินจึงใช้แรงงานคนลากเข็นไปบนแคร่ไม้ โดยมีการราดน้ำเพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน การเคลื่อนย้ายวัตถุน้ำหนักมากๆ ด้วยวิธีนี้มีหลักฐานเป็นภาพแกะสลักนูนต่ำบนฝาผนังหิน ซึ่งแสดงการเคลื่อนย้ายเทวรูปหินขนาดใหญ่ด้วยแรงคนนับร้อย
วิธีการลำเลียงหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้างในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างการก่อสร้างคืออีกส่วนหนึ่งที่เป็นปริศนา แนวคิดแรกเริ่มเชื่อกันว่าชาวอียิปต์โบราณใช้วิธีสร้างทางลาดบริเวณด้านข้างของพีระมิด และชักลากหินขึ้นตามทางลาดที่ก่อสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความสูงของระดับการก่อสร้างจนถึงจุดสูงสุดยอด และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงทำการรื้อทางลาดดังกล่าวออกคงเหลือไว้แต่ พีระมิด ที่สร้างเสร็จ ถ้าแนวคิดนี้เป็นจริงสิ่งก่อสร้างใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นอาจไม่ใช่พีระมิดคูฟู แต่อาจเป็นทางลาดสูงเท่าตึก 40 ชั้นที่ใช้ก่อสร้างพีระมิดแทน มีแนวคิดอื่นๆ เสนอว่าทางลาดดังกล่าวอาจไม่ได้สร้างอยู่ด้านใดด้านหนึ่งข้างพีระมิด แต่อาจสร้างเป็นทางวนรอบพีระมิดแทน หรืออาจบางทีแต่ละชั้นของพีระมิดนั่นเองคือทางที่ใช้ชักลากหินขึ้นสู่ชั้นถัดไป ผ่านทางลาดขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแต่ละชั้น
แม้จะยังไม่มีข้อสรุปถึงวิธีการลำเลียงหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้าง แต่การประกอบหินแต่ละก้อนสามารถสรุปได้ว่าผ่านการตัดแต่งแบบก้อนต่อก้อน เนื่องจากแต่ละก้อนต้องมีขนาดและแง่มุมพอดีกับหินก้อนอื่นๆที่จัดเรียงไว้ก่อนหน้า เพราะในการก่อสร้างพีระมิดไม่มีการใช้วัสดุเชื่อมประสาน หินแต่ละก้อนวางซ้อนกันอยู่ได้ด้วยน้ำหนักกดทับด้านบน และระนาบที่เท่ากันในแต่ละชั้นจึงต้องตัดแต่งอย่างปราณีตแบบก้อนต่อก้อนก่อนประกอบเข้าสู่ตำแหน่ง
ด้วยเครื่องมือง่ายๆ อย่างไม้วัดระดับแนวราบ และสายดิ่งที่ใช้ตรวจสอบผิวหน้าหินในแนวตั้ง โดยใช้ลิ่มหินควอตซ์ (Quartz) ซึ่งเป็นหินอัคนีความแข็งสูงในการขัดแต่งผิวหน้าของหินแต่ละด้านให้เรียบ ช่างหินอียิปต์โบราณสามารถสร้างผลงานดีเยี่ยม จนผิวสัมผัสระหว่างหินแต่ละก้อนห่างกันเพียง 0.02 นิ้วเท่านั้น
ควรทราบอีกว่า ณ เวลานั้นโลกยังไม่เข้าสู่ ยุคเหล็ก โดยที่เทคโนโลยีการตีเหล็กยังไม่ถูกพัฒนาขึ้นจนกว่าอีก 1 พันปีต่อมา เครื่องมือโลหะที่มีใช้ในสมัยนั้นทำด้วย ทองแดง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายหากต้องการตัดหินปูนและหินแกรนิตให้ได้ขนาดและรูปทรงตามต้องการ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยียุคโบราณเชื่อว่า ช่างอียิปต์โบราณใช้ แท่งโลหะพันด้วยเชือก เพื่อหมุนปั่นแท่งโลหะเจาะรูลึกในก้อนหินโดยมีการโรยผงทรายลงในรูที่เจาะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือ


วัตถุดิบที่ใช้ในการสร้างพีระมิดแห่งกิซ่า


แหล่งหินที่นำมาสร้างพีระมิด ไม่อยู่ในบริเวณที่ก่อสร้างแต่ต้องขนส่งจากเหมืองหินที่อยู่ห่างไกลนับร้อยไมล์ มาตาม แม่น้ำไนล์ แล้วขนส่งทางบกต่อไปอีกจนถึงบริเวณก่อสร้างซึ่งห่างจากริมฝั่งแม่น้ำไนล์ประมาณ 22 กิโลเมตร หินปูนซึ่งเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ห่างไปกว่า 200 กิโลเมตร เรียงรายตามแนวฝั่งแม่น้ำไนล์ เหมืองหินปูนใกล้ที่สุดอยู่บริเวณเมืองตูราห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร ส่วนหินแกรนิตที่ใช้สร้างห้องเก็บพระศพ และโลงพระศพ อยู่บริเวณตอนเหนือของเขื่อนอัสวานในปัจจุบัน ซึ่งห่างจากบริเวณก่อสร้างไปทางใต้กว่า 900 กิโลเมตร การขนย้ายหินจากระยะทางไกลขนาดนั้นต้องใช้พาหนะขนาดใหญ่ล่องตามแม่น้ำไนล์เป็นแรมเดือน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศไทยจะประมาณเท่ากับการล่องเรือจากเชียงรายลงมาถึงกรุงเทพฯ
การลำเลียงหินขึ้นลงจะใช้แคร่เลื่อนไม้และอาจใช้จังหวะที่มีน้ำท่วมเข้าถึงบริเวณเหมืองและพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนย้ายหิน มีข้อสังเกตว่าพาหนะที่ใช้บรรทุกหินจะต้องสามารถรับน้ำหนักได้มากถึงหลายสิบตัน จึงจะสามารถขนแท่งหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้าง พาหนะดังกล่าวอาจมีลักษณะคล้ายเรือใหญ่ ซึ่งมีคานให้เรือขนาดเล็กกว่าหลายๆ ลำช่วยกันพยุงรับน้ำหนักอยู่ด้านล่าง เมื่อเปรียบเทียบกับเรือขุดขนาดใหญ่ของไทยขนาด 45-55 ฝีพายซึ่งยาวร่วม 30 เมตร ยังสามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 10 เมตริกตันต่อลำ พาหนะที่ชาวอียิปต์โบราณใช้ขนส่งหินหนักถึง 70 เมตริกตันจะต้องรับน้ำหนักได้มากกว่าเรือขุดขนาดใหญ่ของไทยหลายเท่า มีการขุดพบเรือโบราณขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้ในบริเวณเดียวกับ พีระมิดคูฟู ที่เป็นหลักฐานว่าชาวอียิปต์โบราณมีความสามารถในการต่อเรือขนาดใหญ่ได้ดี

แรงงานในการสร้างมหาพีระมิดแห่งกิซ่า

หากประมาณจำนวนแรงงานที่ใช้ก่อสร้างพีระมิด จากจำนวนหินที่ใช้ก่อสร้าง 2,500,000 ก้อนหารด้วยระยะเวลาก่อสร้าง ปีละ 3-4 เดือนในฤดูน้ำหลาก รวม 20 ปี จะพบว่าต้องก่อสร้างให้ได้ประมาณ 1,000 ถึง 1,400 ก้อนต่อวัน หากต้องสกัดหินจากเหมืองหินให้ได้ขั้นต่ำวันละ 1,000 ก้อน และต้องมีแรงงานขนหินออกจากเหมืองมายังแม่น้ำ แรงงานสำหรับควบคุมการขนส่งมายังพื้นที่ก่อสร้าง และแรงงานสำหรับยกหินขึ้นฝั่งที่ปลายทาง ถ้าทั้งหมดนี้ใช้คนทั้งสิ้นประมาณ 10 คนต่อหิน 1 ก้อนจะต้องมีแรงงานในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน
นอกจากนี้ในบริเวณก่อสร้างยังต้องมีแรงงานสำหรับขนย้ายหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้างบนพีระมิด ผู้เขียนคิดเองว่าน่าจะเป็นแรงงานคนละชุด กับที่ขนย้ายหินมาจากแม่น้ำ และน่าจะต้องใช้คนมากว่า 8 คนต่อหิน 1 ก้อนเนื่องจากเป็นการขนย้ายหินขึ้นสู่ที่สูง ยิ่งการก่อสร้างดำเนินไประดับของพื้นที่ก่อสร้างก็จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่รวมช่างฝีมือในบริเวณก่อสร้างแต่ละชั้นซึ่งต้องตัดแต่งหินให้ได้ระดับแง่มุมที่ถูกต้องแบบก้อนต่อก้อน เชื่อว่าแรงงานขนย้ายหินรวมกับแรงงานประกอบหิน น่าจะไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นคนในระหว่างการก่อสร้างแต่ละปี และเป็นไปได้ว่าแรงงานที่หมุนเวียนกันมาก่อสร้างตลอด 20 ปีจะมีถึงกว่า 100,000 คน
มีเรื่องน่าสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อแต่เดิมที่ว่า พีระมิด ก่อสร้างขึ้นด้วยแรงงานทาส โดยมีการบังคับกดขี่ทาสอย่างทารุณ ทั้งหมดเป็นเพียงจินตนาการในวงการบันเทิง เมื่อหลักฐานที่พบในเวลาต่อมาบ่งชี้ว่า แรงงานที่มาก่อสร้างพีระมิดเป็นชาวอียิปต์ที่ทำงานด้วยความสมัครใจในระหว่างว่างเว้นจากงานเกษตรกรรม โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นอาหาร เช่น หัวไชเท้าและกระเทียม และในกรณีที่ทำงานได้มากจะมีการจดบัญชีเพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้ในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งจากหลักฐานที่พบใหม่ๆ คือแรงงานที่มาก่อสร้างมีการจัดตั้งกันแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามลำดับชั้น และมีการกำหนดหน้าที่ให้กับแต่ละกลุ่ม คล้ายกับโครงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งสำหรับเมื่อ 4,600 ปีก่อนนับว่าชาวอียิปต์มีความล้ำหน้าอารยธรรมอื่นๆ ในยุคเดียวกันมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น