วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

คลองปานามา



คลองปานามา เป็นคลองเดินเรือสมุทรความยาว 77 กิโลเมตร สร้างขึ้นบริเวณคอคอดปานามาในประเทศปานามา เพื่อเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าด้วยกัน ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาที่ต้องไปอ้อมช่องแคบเดรกและแหลมฮอร์น ทางใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ คิดเป็นระยะทางกว่า 22,500 กิโลเมตร ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการเดินเรือระหว่างสองมหาสมุทร โดยถูกใช้เป็นเส้นทางเดินเรือหลักสำหรับการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ตั้งแต่เปิดทำการ คลองปานามาประสบความสำเร็จและเป็นกุญแจสำคัญในการขนส่งสินค้าทั่วโลก จำนวนเรือที่ผ่านคลองปานามาเพิ่มขึ้นจาก 1,000 ลำต่อปีในยุคแรกเริ่ม มาเป็น 14,702 ลำต่อปี ในปี ค.ศ. 2008 มีระวางขับน้ำรวมทั้งสิ้น 309.6 ล้านตัน (คิดเป็นประมาณ 40 ลำต่อวัน ประมาณร้อยละ 5 ของเรือบรรทุกสินค้าทั่วโลก)
แนวความคิดในการขุดคลองปานามาจะมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 แล้ว ก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้างครั้งแรกในปี ค.ศ. 1880 ภายใต้บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสภายใต้การบริหารของนายแฟร์ดินองด์ เดอ เลสเซ็ปส์ แต่ก็ล้มเหลวไป มีคนงานกว่า 21,900 คนเสียชีวิต มักมีสาเหตุจากโรคระบาด (มาลาเรียหรือไข้เหลือง) และดินถล่ม จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาเข้ามาดำเนินงานต่อ โดยมีผู้เสียชีวิตราว 5,600 คน จนกระทั่งสามารถเปิดใช้งานได้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1914 นับเป็นหนึ่งในโครงการวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดและยากลำบากที่สุดที่เคยมีมา

ประวัติ

หลักฐานที่มีการอ้างถึงคอคอดในอเมริกากลาง ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1524 เมื่อจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์แห่งสเปนพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า จักรพรรดิชาลส์ที่ 5 ได้ทรงแนะนำว่า การสร้างคลองผ่านปานามาจะสร้างความสะดวกในการเดินเรือสัญจรไปมาระหว่างสเปนกับเปรู รวมไปถึงสร้างความได้เปรียบทางยุทธวิธีเหนือโปรตุเกสระหว่างการสำรวจโดยคณะสำรวจของพระองค์ระหว่างปี ค.ศ. 1788-1793 โดย อเลสซานโดร มาลาสปินาได้เสนอความเป็นไปได้และวางแผนโครงสร้างของคลอง
อเมริกากลางถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ คือเป็นแผ่นดินที่มีลักษณะแคบ แบ่งโดยมหาสมุทรขนาดใหญ่ 2 มหาสมุทร ความพยายามที่จะเชื่อมการค้าเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้วในบริเวณนี้ ในปี ค.ศ. 1698สกอตแลนด์ได้พยายามเข้ามาตั้งฐานการค้าบริเวณคอคอดปานามา โดยใช้แผนดารีเอน แต่เนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ในที่สุดก็ได้ออกจากปานามาไปในปี ค.ศ. 1700 และในที่สุดการรถไฟในปานามาก็ได้เกิดขึ้นเพื่อข้ามคอคอดนี้ได้เปิดใช้ในปี ค.ศ. 1855 เส้นทางสัญจรนี้ได้เอื้อหนุนให้การค้ามีความสะดวกขึ้น และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเลือกสร้างคลองเชื่อมคอคอดปานามาในภายหลัง


ความพยายามก่อสร้างของฝรั่งเศส


ภาพการขุดบริเวณช่องเขาเกลลาร์ด เมื่อปี 1907
การรื้อฟื้นแนวความคิดในเรื่องการเชื่อมทางน้ำต่อกันระหว่างมหาสมุทรทั้ง 2 มหาสมุทรเกิดขึ้นอยู่หลายครั้งหลายครา อย่างทางเชื่อมผ่านนิการากัวก็ได้มีการสำรวจอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งคลองปานามา เองเป็นหนึ่งในสองโครงการขุดคลองที่เคยดำริมาตั้งแต่ยุคสเปนเรืองอำนาจคริสต์ศตวรรษที่ 16 แล้ว จนในที่สุด การประสบความสำเร็จของการสร้างคลองสุเอซ รัฐบาลโคลอมเบียได้ให้สัมปทานกับนักผจญภัยชาวฝรั่งเศสชื่อ ลูเซียง นโปเลียน โบนาปาร์ต ไวส์ ในการขุดคลองซึ่งจะเชื่อมระหว่างสองมหาสมุทรในบริเวณจังหวัดปานามา และเขาได้ขายสัมปทานต่อให้กับบริษัทฝรั่งเศสที่บริหารโดยนายแฟร์ดีนอง เดอ เลสเซป ซึ่งดำเนินการขุดคลองปานามาในทันที เขาได้เริ่มขุดคลองจากระดับน้ำทะเล (โดยไม่มีประตูกั้นน้ำ) เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1880 บริษัทฝรั่งเศสได้ทำงานอย่างรีบเร่งโดยขาดการศึกษาที่เพียงพอทั้งทางด้านภูมิประเทศและอุทกวิทยา อีกทั้งโรคภัยไข้เจ็บในภูมิอากาศเขตร้อนที่คนงานก่อสร้างคลองต้องเผชิญทั้งโรคไข้เหลืองและมาลาเรียคร่าชีวิตคนงานเป็นจำนวนมากและทำให้การก่อสร้างไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เป็นเหตุให้คนงานต่างหวาดกลัวและหนีกลับฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1883 บริษัทฝรั่งเศสที่ได้สัมปทานไม่สามารถทำงานต่อได้ เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บและความลำบากในการขุดคลองในระดับน้ำทะเล การขาดประสบการณ์ภาคสนามของคนงาน อย่างเช่น การเก็บเครื่องมือที่เจอห่าฝนไม่ดี ทำให้เกิดสนิมจับ แต่ปัญหาหลักคือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น นับจำนวนคนที่เสียชีวิตระหว่างการขุดคลองปานามา (ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1881 - 1889) ได้กว่า 22,000 คน
จากหนังสือ Overthrow ของสตีเฟน คินเซอร์ในปี ค.ศ. 2006 ได้กล่าวไว้ว่าในปี ค.ศ. 1898 หัวหน้าคนหนึ่งในองค์การเกี่ยวกับคลองของฝรั่งเศส คือ ฟีลีป-ชอง บูโน-วารียา ได้จ้างวิลเลียม เนลสัน ครอมเวลล์ เพื่อโกงจากสภาคองเกรสของอเมริกา ที่จะสร้างคลองปานามา ไม่ใช่คลองที่ข้ามจากนิการากัว


การก่อสร้างของสหรัฐอเมริกา

ในปี ค.ศ. 1902 หลังจากได้มีการผลิตแสตมป์ 10 เซนต์ ชุดนิการากัวในสหรัฐอเมริกา ออกโดยบริษัทอเมริกันแบงก์โน้ต โดยเป็นภาพควันจากภูเขาไฟโมโมตัมโบ ซึ่งตั้งอยู่ห่างราว 160 กิโลเมตรจากสถานที่ที่เป็นแผนเสนอสร้างคลองนิการากัว จากจุดนี้เอง ครอมเวลได้สร้างข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ในนิวยอร์กซัน โดยมีรายงานว่า ภูเขาไฟโมโมตัมโบเกิดระเบิดขึ้นและเกิดแผ่นดินไหว หลังจากนั้นเขาได้ส่งใบปลิวไปพร้อมกับแสตมป์ไปให้กับวุฒิสมาชิก และในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1902 สามวันหลังจากวุฒิสมาชิกได้รับแสตมป์ พวกเขาต่างลงคะแนนให้ปานามาเป็นเส้นทางในการขุดคลองลัด จากการโกงครั้งนี้เอง ครอมเวลล์ได้รับผลประโยชน์ไปราว 8 แสนเหรียญสหรัฐ
หลังจากที่บริษัทของนายเดอเลสเซปล้มละลายต้องขายโครงการขุดคลองทอดตลาดไป สหรัฐอเมริกาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขุดคลองครั้งนี้ เนื่องจากในตอนที่สหรัฐอเมริกาได้ทำสงครามกับสเปนในปี ค.ศ. 1898 เห็นว่าการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกกับตะวันออกเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ ถ้ามีคลองลัดย่นระยะทางการเดินทางของเรือรบและเรือขนส่งยุทธสัมภาระได้ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งในการป้องกันประเทศ รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญในจุดนี้
โดยสหรัฐอเมริกาได้เจรจากับรัฐบาลโคลอมเบียว่า หากสหรัฐอเมริกาลงทุนขุดคลองแล้วก็ขอให้สหรัฐอเมริกาเช่าพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อดำเนินการควบคุมการเข้าออกของเรือที่ผ่านคลอง แต่การตกลงเรื่องราคาค่าเช่าที่ไม่ลงตัว รัฐบาลโคลอมเบียไม่ตกลงกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้นชาวปานามากลัวว่าโคลอมเบียจะไม่แบ่งผลประโยชน์ให้เท่าที่พวกตนควรได้ จึงได้ก่อการปฏิวัติขึ้นและประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองได้รับรองการเป็นเอกราชของปานามา และยังได้ช่วยไม่ให้โคลอมเบียยกกองทหารเข้ามาปราบปรามชาวปานามา จนในที่สุดสหรัฐอเมริกาได้ทำสัญญากับปานามาในปี ค.ศ. 1903 โดยปานามายกกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นระยะทางกว้าง 10 กิโลเมตร ตลอดแนวทางที่สหรัฐอเมริกาจะขุดคลอง และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดำเนินการบริหารเป็นสิทธิขาดตลอดไป โดยสหรัฐอเมริกาจะจ่ายเงินตอบแทนให้ปานามาเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านดอลลาร์ และจะให้เป็นประจำทุกปี อีกปีละ 250,000 ดอลลาร์ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ได้จ่ายเงินให้แก่โคลอมเบียเป็นเงิน 25 ล้านดอลล่าร์ในปี ค.ศ. 1921 และรัฐบาลโคลอมเบียรับรองความเป็นเอกราชของปานามาในสนธิสัญญาธอมสัน-อูรูเตีย
สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของทีโอดอร์ รูสเวลต์ได้ครอบครองเครื่องมือรวมถึงอุปกรณ์ขุดเจาะทั้งหมด ได้เริ่มต้นการทำงานเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1904 สิ่งสำคัญประการแรกคือ ได้เริ่มลงมือปราบปรามโรคร้ายที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการก่อสร้างคลอง พันเอก วิลเลียม ซี กอร์กัส ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการดังกล่าวกอร์กัสได้เริ่มรณรงค์ขจัดยุงชนิดหนึ่งซึ่งเป็นพาหะในการนำโรคไข้เหลืองและมาลาเรียโดยการขจัดหนองน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขจัดพงหญ้าที่เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของยุงเหล่านั้น ตลอดจนกำจัดหนูซึ่งเป็นพาหะกาฬโรค เขาใช้เวลาในการกำจัดอยู่ 10 ปี รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ใช้เงินไปประมาณ 20 ล้านดอลลาร์เฉพาะในการปราบปรามโรคเหล่านี้ จนใน ค.ศ. 1914 จึงได้ดำเนินการก่อสร้างคลองนี้ขึ้น โดยสหรัฐอเมริกาตัดสินใจที่จะก่อสร้างคลองที่มีประตูกั้นน้ำเป็นระยะ ๆ แทนที่จะเป็นคลองที่มีระดับน้ำเท่ากับระดับน้ำทะเล และหลังจากได้ตระเตรียมระบบพื้นฐาน ระบบการก่อสร้างของระบบประตูกั้นน้ำของคลองก็เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง สหรัฐอเมริกาจึงได้ค่อย ๆ เปลี่ยนเครื่องมือของฝรั่งเศสมาใช้เครื่องไม้เครื่องมือขนาดใหญ่สำหรับงานที่ใหญ่ขึ้น


การพัฒนาในภายหลัง

ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้น กระตุ้นให้เกิดการสร้างเขื่อนแมดเดนกั้นแม่น้ำชาเกรส เหนือทะเลสาบกาตูน ซึ่งเขื่อนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1935 และได้สร้างทะเลสาบอาลาฮูเอลาที่เป็นเหมือนอ่างเก็บน้ำให้กับตัวคลอง ต่อมาในปี ค.ศ. 1939 การก่อสร้างได้เริ่มขึ้น และมีการปรับปรุง การขยายประตูน้ำเซตใหม่ของคลองซึ่งกว้างพอที่จะรับน้ำหนักเรือรบอเมริกัน การทำงานส่วนนี้ใช้เวลาหลายปี และการขุดเจาะช่องทางใหม่ก็เสร็จสมบูรณ์ แต่โครงการนี้ก็ถูกยกเลิกไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เรือมิสซูรี (Missouri) ของสหรัฐอเมริกาแล่นผ่านคลอง ภาพถ่ายเมื่อปี 1945
หลังจากสงครามยุติ สหรัฐอเมริกาเข้ามาควบคุมครองและพื้นที่บริเวณครอบครอง รัฐบาลปานามาก็เริ่มแสดงความไม่พอใจว่า สนธิสัญญาที่ทำกับสหรัฐอเมริกาโดยมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินและการบริหารงานบริเวณคลองให้สหรัฐอเมริกาเป็นสัญญาที่อยุติธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและปานามาได้เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น ชาวปานามาหลายคนเห็นว่าเขตบริเวณคลองปานามาเป็นของประเทศปานามา กลุ่มนักศึกษาได้เข้ามาประท้วงบริเวณรั้วของเขตบริเวณคลอง และทางสหรัฐอเมริกาก็เสริมกำลังทหารในบริเวณนั้น ชาวปานามาได้ก่อการจลาจลขึ้นในปี ค.ศ. 1964 มีชาวปานามาเสียชีวิต 20 คน และชาวอเมริกัน 4 คน จนกระทั่งการเจรจาได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1974 และได้ลงนามในสนธิสัญญาตอร์รีโฮส-คาร์เตอร์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1977 ลงนามโดยประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ แห่งสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดี โอมาร์ ตอร์รีโฮส แห่งปานามา เป็นสัญญาที่ว่าด้วยขั้นตอนการครอบครองคลองให้ชาวปานามาได้เข้ามาควบคุมโดยอิสระยาวนานตราบเท่าที่ปานามารับประกันว่าจะรักษาความเป็นกลาง และยอมให้สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาได้ทุกเมื่อ สหรัฐอเมริกาได้ยอมคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณคลอง ในปี ค.ศ. 1979 ถึงแม้ว่าจะเกิดการโต้แย้งภายในสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด สนธิสัญญานี้ก็ได้มีผลให้ปานามาเข้ามาครอบครอง สหรัฐอเมริกาก็ยอมมอบสิทธิในการบริหารคลองปานามาให้กับรัฐบาลปานามาเมื่อเที่ยงวันของวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ภายใต้การควบคุมขององค์การบริหารคลองปานามา (Panama Canal Authority หรือ ACP)

เส้นทางและองค์ประกอบ


คลองปานามา ช่วงประตูกาตูน
คลองปานามาประกอบด้วยทะเลสาบที่ขุดขึ้น 17 แห่ง และมีหลายจุดขุดเป็นช่องทางการเดินเรือ มีประตูอยู่ 2 จุด ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก
จากทางมหาสมุทรแปซิฟิก ทางเข้าจากอ่าวปานามา ถึงประตูมีราโฟลเรส เป็นประตูน้ำ 2 ส่วน มีระยะทาง 13.2 กิโลเมตร (8.2 ไมล์) จากอ่าวปานามาเมื่อผ่านไปจะลอดสะพานบริดจ์ออฟดิอเมริกาส์ ต่อมาคือประตูมีราโฟลเรส ซึ่งมีกำแพงขนาดราวยาว 1.7 กิโลเมตร (1.1 ไมล์) ขนาบอยู่ จากจุดนี้ระดับน้ำจะสูงขึ้นไปอีก 16.5 เมตร (54 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล ถัดมาคือประตูเปโดรมีเกล ซึ่งมีความยาว 1.4 กิโลเมตร (0.8 ไมล์) เป็นจุดสุดท้ายที่มีการยกระดับขึ้นไป โดยยกขึ้นอีก 9.5 เมตร (31 ฟุต) ขึ้นสู่ระดับน้ำของคลอง
ช่องเขาเกลลาร์ดเป็นส่วนที่แยกทวีปอเมริกาออกเป็น 2 ส่วน โดยตัดภูเขากูเลบราเป็นระยะทาง 12.6 กิโลเมตร (7.8 ไมล์) ด้วยระดับความสูง 26 เมตร (85 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล การตัดคลองมีลักษณะโค้ง ปัจจุบันกำลังเพิ่มความกว้างขนาดคลองเพื่อความปลอดภัย
และถัดไปคือลอดสะพานเซนเทนเนียล แล้วจึงเข้าสู่แม่น้ำตามธรรมชาติคือแม่น้ำชาเกรส ตรงช่วงกลางของแม่น้ำมีเขื่อนกาตูน มีฐานเขื่อนกว้าง 8.5 กิโลเมตร (5.3 ไมล์) มียอดเขื่อนกว้าง 30.5 เมตร ถัดมาคือทะเลสาบกาตูน ครอบคลุมพื้นที่ 418.25 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้น และสุดท้ายประตูกาตูน เป็นประตูน้ำฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก แบ่งเป็นประตูน้ำ 3 ส่วน แต่ละประตูน้ำแบ่งเป็น 2 ช่องทาง ซึ่งแต่ละประตูจะมีความกว้าง 33.5 เมตร ยาว 305 เมตร รถลากจะลากเรือเข้ามาในประตูน้ำ หลังจากนั้นจะทำการปรับระดับน้ำทีละฟุต โดยใช้หลักการแรงดันน้ำจากระดับน้ำที่สูงกว่ายกระดับเรือผ่านประตูน้ำทั้ง 3 ระดับ ให้สูงกว่าระดับน้ำทะเลที่ 26 เมตร


คลองปานามาในปัจจุบัน

90 ปีตั้งแต่เปิดทำการ คลองปานามาก็ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าโลกของการขนส่งทางเรือ จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างไม่ว่าจะเป็นขนาดของเรือเอง แต่คลองปานามาก็ยังคงเป็นมีความสำคัญในการเชื่อมโยงการค้าขายของตลาดโลก การขนส่งได้เพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแต่ก่อน กับค่าใช้จ่ายที่น้อยลง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แนวโน้มของปัญหาต่าง ๆ ก็ยังตามมาด้วย


อนาคต

ด้วยความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น คลองปานามาก็ยังคงอยู่ตำแหน่งที่สำคัญของโลกแห่งการขนส่งสินค้าในอนาคต อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการขนส่งสินค้า อย่างเช่น จำนวนของเรือขนาดใหญ่ที่มีผลต่อยอดกำไรของคลอง มีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2011 37% ของเรือขนส่งสินค้าจะใหญ่เกินไปสำหรับคลองปานามาในปัจจุบัน และต่อจากนี้ไปความผิดพลาดจะขยายมากขึ้นมีผลให้สูญเสียการครองตลาดไป ยอดความจุสูงสุดของคลองนี้ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 330-340 PC/UMS ตันต่อปี และมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะถึงในปี 2009 และ 2012 และกว่า 50% ของเรือมีความกว้างสูงสุดของประตูน้ำในปัจจุบันแล้ว
แผนการขยับขยายนั้นคล้ายกับประตูน้ำที่ 3 ที่สร้างขึ้นในปี 1939 เป็นการเพิ่มจำนวนการสัญจรในคลองและความสามารถที่จะรองรับเรือที่ใหญ่ขึ้นได้ถูกนำมาพิจารณาอยู่หลายครั้ง แผนการนี้ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของปานามา ซึ่งการเสนอการขยายคลองนี้ก็ได้ผ่านประชามติด้วยเสียงประมาณ 80% สนับสนุนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 2006


การขยับขยาย

ประตูแห่งใหม่ มี 3 ขั้น และประตูเลื่อนในแต่ละอ่างเก็บน้ำ
แผนในปัจจุบันคือการสร้างช่องทางเดินเรือ ขนานไปกับ 2 ช่องทางเดิม[47] จุดแรกทางทิศตะวันออกตรงบริเวณประตูกาตูน อีกที่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประตูมีราโฟลเรส ทั้ง 2 เพื่อรองรับช่องทางนั้น ๆ ในระดับที่สูงขึ้นไปจากระดับของมหาสมุทร ตรงเข้าสู่ทะเลสาบกาตูนและบริเวณมีราโฟลเรส/เปโดรมีเกล ที่ยังไม่ได้มีการสร้างประตูใหม่นี้จะมีการเพิ่มประตูเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยเป็น 2 เท่า มีความยาว 427 เมตร (1,400 ฟุต) กว้าง 55 เมตร (180 ฟุต) ลึก 18.3 เมตร (60 ฟุต) สามารถรองรับเรือที่มีความกว้างได้ถึง 49 เมตร (160 ฟุต) มีความยาวรวมทั้งหมด 366 เมตร (1,200 ฟุต)[2] ซึ่งหมายถึงเรือขนส่งสินค้าสามารถขนสินค้าได้ถึง 12,000 TEU
ประตูแห่งใหม่นี้ที่รองรับเส้นทางใหม่ ที่เส้นทางมีราโฟลเรสมีความยาว 6.2 กิโลเมตร (3.8 ไมล์) จากประตูสู่ช่องเขาเกลลาร์ด เลี่ยงทางออกทะเลสาบมีราโฟลเรส เส้นทางดังกล่าวกว้าง 218 เมตร (715 ฟุต) เพื่อต้องการรอบรับเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่เดินทางสู่ช่องทาง ส่วนช่องเขาเกลลาร์ดก็จะทำการขยับขยายให้กว้างขึ้นไม่ต่ำกว่า 280 เมตร (918 ฟุต) ในทางตรงและในส่วนทางโค้งจะปรับให้กว้างไม่ต่ำกว่า 366 เมตร (1,200 ฟุต) ระดับสูงสุดของทะเลสาบกาตูนจะทำให้สูงจากระดับอ้างอิง 26.7 เมตร (87.5 ฟุต) ถึง 27.1 เมตร (89 ฟุต)
ประตูแต่ละแห่งกับอ่างเก็บน้ำทั้ง 9 แห่ง (3 แห่งต่อประตู) อ่างเก็บน้ำจะมีความขนาดเฉลี่ย กว้าง 70 เมตร (230 ฟุต) ยาว 430 เมตร (1,410 ฟุต) และ ลึก 5.50 เมตร (18 ฟุต) อ่างเก็บน้ำจะใช้น้ำ 60% ในการเข้ามาแต่ละครั้งของเรือและจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ประตูแห่งใหม่จะใช้น้ำน้อยกว่า 7% ในแต่ละเที่ยว การขุดทะเลสาบกาตูนให้ลึกลงและการเพิ่มจำนวนน้ำมากขึ้นจะช่วยให้มีการกักเก็บน้ำที่มีจำเป็นในการใช้งานซึ่งการขยับขยายนี้ก็ยังช่วยให้ไม่ต้องมีการขุดอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
อ่างเก็บน้ำ ในระดับความสูงที่แตกต่างกัน ลำเลียงทางน้ำล้นที่เกินออกเมื่อเรือผ่าน
ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการนี้โดยประมาณอยู่ที่ 5.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อตั้งเป้าไว้ว่าจะรองรับการเจริญเติบโตของเส้นทางสัญจรได้จาก 280 ล้าน PC/UMS ในปี ค.ศ. 2005 ไปเป็น เกือบ 510 ล้าน PC/UMS ในปี ค.ศ. 2025 และน่าจะมีความสามารถในการรองรับได้ 600 ล้าน PC/UMS ต่อปี ส่วนค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่างการคิดคำนวณโดยคำนวณจากขนาดของเรือแต่ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งการใช้ประตู
ประตูแห่งใหม่คาดว่าจะเปิดใช้ในปี ค.ศ. 2015 ประตูในปัจจุบันซึ่งมีอายุร่วมร้อยปีแล้ว จะมีการปรับปรุงครั้งใหญ่และดำเนินการอย่างต่อไปอย่างไม่มีกำหนด จากบทความเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ในนิตยสารป็อปปูลาร์เมคานิกส์ อธิบายไว้ว่า แผนของคลองปานามาจะมุ่งไปที่ด้านวิศวกรรมในการขยับขยายโครงการ
เดือนกันยายน ค.ศ. 2007 ได้มีการเริ่มต้นการขยับขยายคลอง โดยมีคนงานชาวปานามานับพันจากปาราอีโซ กรุงปานามาซิตี ร่วมกันระเบิดภูเขา อย่างไรก็ตามได้เกิดความเสียหายมีคนงานเสียชีวิต ในขณะที่รถบรรทุกชนเข้ากับเสาไฟฟ้าแรงสูง ช่วงแรกของโครงการจะทำการขุดแห้งคูกว้าง 218 เมตร (715 ฟุต) ให้เชื่อมต่อกับช่องเขากูเลบรากับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ได้ทำการขุดหิน 47 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้ดำเนินงานด้วยเงิน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐในการสร้างประตูแห่งใหม่และจะเริ่มปลายปี 2007 นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น