วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ปราสาทหินนครวัด



ปราสาทหินนครวัด 

สถานที่ตั้ง :ประเทศกัมพูชา 
ปัจจุบัน : สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ 
ปราสาทหินนครวัดเป็นสถาปัตยกรรมที่มหัศจรรย์ยิ่ง ปราสาทนี้กว้างด้านละ 5 เส้น รอบๆ ปราสาทมีคูน้ำ สร้างราวๆ พ.ศ. 1690 (ค.ศ. 1147) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กษัตริย์ขอม สร้างเป็น 3 ตอน ทางเข้าปราสาท ด้านหน้าปูด้วยหินขนาดใหญ่มีราวกำแพงสลักเป็นพญานาคซุ้มประตูสร้างเป็น พระปรางค์ 3 ยอดผ่านประตูเข้าไปข้างในถึงตอนกลางเป็นปราสาทก่อเป็นพระปรางค์มี 5 ยอด มีภาพแกะสลักลงในเนื้อหินอย่างวิจิตรทุกส่วนสร้างด้วยศิลาแลงซึ่งแสดงว่าครั้งหนึ่ง ขอมเคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในสมัยโบราณและเนื่องจากความวิจิตรงดงามของการแกะสลักนี้เอง จึงจัดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก


นครวัดในมุมมหาชนที่มองเห็นสะท้อนในเงาน้ำ
         
       สุดยอดปราสาทขอมไฮไลท์แห่งเมืองเสียมเรียบที่จะเป็นปราสาทอื่นใด ไปไม่ได้นอกจากปราสาท “นครวัด”หรือ “Angkor Wat” มหาปราสาทที่ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง ที่ ณ วันนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวกันเป็นจำนวนมากทุกวัน
    
       คนที่มีส่วนสำคัญในการช่วยโปรโมททางอ้อมให้นครวัดโด่งดังไปทั่วโลกก็คือ ประโยคอมตะของ นายอาร์โนลด์ ทอยน์บี ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า “See Angkor Wat and Die” ซึ่งประโยคนี้แหละถือเป็นเหตุจูงใจอย่างแรง!!! ให้เหล่านักเดินทางจากทุกสารทิศเดินทางไปพิสูจน์ในความยิ่งใหญ่และความงามของปราสาทนครวัด
    
       สำหรับบุคคลผู้ที่เนรมิตความยิ่งใหญ่ให้นครวัดนั้นก็คือ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” (ครองราชย์ พ.ศ.1655-1693)ที่ได้ใช้เวลาถึง 37 ปี ในช่วงที่ครองราชย์สร้างนครวัด (พ.ศ.1656-1693) โดยได้เกณฑ์แรงงาน นับแสนคน มาสร้างปราสาทแห่งนี้ และในยุคหลังๆก็ยังมีการสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา
    
       ส่วนเหตุที่ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างปราสาทนครวัดขึ้นมานั้น ณ วันนี้ยังมีความเห็นในหลายกระแสที่แตกต่างกันไป
    
 
นางอัปสราหน้ายิ้ม 1 ใน 2 จากจำนวนนางอัปสราทั้งหมด
       บ้างก็ว่านครวัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นดังเมืองหลวงของอาณาจักรพระนคร
    
       บ้างก็ว่าสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่ พระวิษณุ(พระนารายณ์)
       บ้างก็ว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างนครวัดขึ้นเพื่อเอาไว้เป็นที่บรรจุพระอัฐิหรือสุสานของพระองค์เนื่องจากว่านครวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันตกอันเป็นทิศแห่งความตาย
    
       บ้างก็ว่านครวัดน่าจะสร้างเพื่อให้เป็นดังศาสนสถานกลางของอาณาจักรพระนคร
    
       แต่ไม่ว่านครวัดจะสร้างด้วยเหตุผลใด สิ่งหนึ่งที่นักวิชาการส่วนมากสรุปตรงกันก็คือ ปราสาทนครวัดนั้นสร้างขึ้นมาด้วยคติจักรวาล ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นดังแกนกลางของจักรวาล และเมื่อไปเดินเข้าไปเที่ยวในนครวัด หากเดินไปตามทางปกติตามเส้นทางสายมหาชนไม่ออกนอกลู่นอกทาง ก็คล้ายกับว่าเราเดินทางจากโลกมนุษย์ไปสู่โลกสวรรค์ โดยเมื่อเราแสดงบัตรเข้าชมแล้ว ก็จะมีสะพานหินขนาดใหญ่ยาว ทอดยาวผ่านคูเมืองขนาดใหญ่อีกเหมือนกันสู่ประตูทางเข้าปราสาทนครวัด
    
       ครั้นผ่านซุ้มประตูเข้าไป เรื่องราวน่าสนใจก็เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าต้องเดินหากันบ้าง ส่วนถ้าไปกับไกด์ส่วนมากไกด์มักจะพาไปชม แต่ถ้าเจอไกด์ขี้เกียจก็ต้องจี้ให้พาไปชม เพราะมิฉะนั้นก็จะพลาดการชมนางอัปสราแกะสลักตัวโตยืนยิ้มแฉ่ง (ในจำนวนนางอัปสราเกือบ 2 พันนางมีที่ยืนยิ้มแฉ่ง 2 นาง หนึ่งนั้นคือนางนี้) ใครอยากถ่ายรูปกับนางอัปสรายิ้มแฉ่งก็เดินเสาะหากันได้ตามสะดวก ซึ่งตอนที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ไปนครวัดมาครั้งล่าสุดไกด์เขมร “สูน เพียบ” พาไปชมนางอัปสรายิ้มแฉ่งนางนี้เลยสบายไปไม่ต้องเสียเวลาเดินหาให้เมื่อยตุ้ม
    
       เอาหละ พอพ้นซุ้มประตูทางเข้ามาก็ยังต้องเจอกับสะพานยาวอีกแล้ว แต่ว่านักท่องเที่ยวส่วนมากจะเดินไปประมาณครึ่งสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อไปชมและถ่ายรูปกับปรางค์ปราสาท 10 ยอด
    
       อ๊ะ อ๊ะ ใครที่เคยไปมาแล้วอย่าเพิ่งงุนงงสงสัยว่าปรางค์ 10 ยอด เอามาจากไหน เพราะเท่าที่เห็นมีเพียงปรางค์ 5 ยอดที่ตัวปราสาท ซึ่งหากเดินไปตามสะพานก็จะเห็นเพียง 3 ยอด เนื่องจากปรางค์ 2 ยอดซ้อนบังกันอยู่ แต่วาหากเดินไปทางซ้ายหรือขวาตรงมุมที่พอเหมาะพอดีก็จะเห็นปรางค์ครบทั้ง 5 ยอด
                 
       เรื่องนี้ไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพียงแต่ว่าที่ทางเดินแยกจากสะพานมาด้านซ้ายจะมีสระน้ำขนาดย่อม ซึ่งเมื่อมองลงไปในน้ำแล้วจะเห็นภาพเงาสะท้อนของปรางค์ทั้ง 5 ที่สุดสวย อีกทั้งยังเป็นมุมมหาชนของนักถ่ายรูปทั้งหลายที่น่าดูกว่าพรรคมหาชนเป็นไหนๆ ซึ่งเมื่อนับทั้งปรางค์จริงและปรางค์สะท้อนก็จะเป็น 10 ปรางค์โดยปริยาย
    

 
กองทัพสยามที่มาร่วมขบวนทัพขอมแบบสบายๆ
       ครั้งพ้นผ่านมุมมหาชนมาแล้ว ก็เป็นทางเดินผ่านสนามหญ้าขึ้นไปสู่กำแพงชั้นใน ที่มีของดีคือภาพแกะสลักหินนูนต่ำบนระเบียงกำแพงยาวโดยรอบประมาณ 600 เมตร ที่ทั้งสวย ทั้งมากด้วยเรื่องราวให้ชมกันแบบจะจะ โต้งๆ ที่ระเบียงกำแพง แต่ว่าหลายคนมักมองข้ามไป ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่รู้เรื่องราวในภาพ แต่ว่าแค่ชมเอางาม ชมเอารายละเอียดอันปราณีตของช่างขอมโบราณก็ถือว่าคุ้มแล้ว
    
       ส่วนใครที่มีความรู้ในเรื่องภาพเหล่านั้นหรือได้ไกด์นำชม แน่นอนว่าน่าสนใจมากเพราะมันคล้ายๆกับการได้อ่านสมุดภาพหินเล่มยักษ์ที่มากมายไปด้วยเรื่องน่าสนใจ ซึ่งเรื่องที่ถือเป็นไฮไลท์และคนส่วนมากคุ้นหูกันดีก็คือเรื่องของการกวนเกษียรสมุทรของเทวดากับอสูรที่แกะสลักได้อย่างละเอียดและครบถ้วนด้วยเรื่องราว ที่อยู่บนระเบียงทางทิศใต้
    
       สำหรับเรื่องการกวนเกษียรสมุทรนี้ ในตอนที่กล่าวถึงเรื่องราวของนครธม “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ได้เคยเปรียบเทียบพวกนักการเมืองใส่สูท ลุคซ์ดูดี มีการศึกษา หน้าตาหมดจดว่ามีพฤติกรรมคล้ายกับเหล่าเทวดา ซึ่งเรื่องราวฉบับย่อสั้น(มาก)ของการกวนเกษียรสมุทรก็มีใจความดังต่อไปนี้
    
       ...ในอดีตกาลนานมากๆ(ไม่รู้กี่พันกี่หมื่นปี) ยุคสมัยที่เทวดากับอสูรยังรบพุ่งกันอยู่ ยุคนั้นว่ากันว่าทั้ง 2 ฝ่ายหน้าตาหมดจดพอๆกัน แต่ว่าฝ่ายอสูรมีฤทธิ์มากกว่า พอลงมือสู่รบกันเทวดามักเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
    
       เมื่อสู่แพ้อยู่บ่อยๆ หัวหน้าเทวดาซึ่งว่ากันว่าคือ “พระอินทร์” ก็ได้ไปขอความช่วยเหลือจากพระพรหม แต่พระพรหมโบ้ยให้ไปขอความช่วยเหลือจากพระนารายณ์(พระวิษณุ) ซึ่งพระนารายณ์ก็แนะนำว่า หนทางที่จะเอาชนะอสูรได้ต้องดื่มน้ำอมฤตเพิ่มอิทธิฤทธิ์
    
       การกวนเกษียรสมุทรก็เกิดขึ้นแต่ว่างานนี้เป็นงานช้าง เทวดาทำฝ่ายเดียวไม่ได้ เหล่าเทวดาจึงไปออกอุบายชวนอสูรมาร่วมกวนเกษียรสมุทรด้วย โดยบอกว่าเมื่อได้น้ำอมฤตมาก็จะแบ่งกัน แล้วการกวนเกษียรสมุทรก็เริ่มขึ้นโดยมีพระนารายณ์เป็นโต้โผนำพลพรรคเทวดาและอสูรกวนเกษียรสมุทรในทะเลน้ำนม มีการใช้เขามันทระเป็นไม้กวน มีการนำพญานาคมาพันรอบเขา
    
    

 
นางอัปสรามหาชนที่ถูกจับลูบคลำจนถันและตัวมันเลื่อม
       ซึ่งทางฝ่ายเทวดาก็ฉลาดแกมโกงเลือกยุดนาคทางข้างหาง ส่วนอสูรยุดนาคทางฝั่งหัว โดยมีพระนารายณ์บัญชาการอยู่ตรงกลาง
    
       การกวนเกษียรสมุทรนี่ใช้เวลาเป็นพันปี พญานาควาสุกรี ที่โดนดึงยุดอยู่นานก็ทนไม่ไหวคายพิษออกมาทางปาก แน่นอนว่าพวกอสูรรับพิษไปเต็มๆจนทำให้หน้าตาหน้าอัปลักษณ์อย่างที่เห็นในทุกวันนี้
    
       ครั้นพอได้น้ำอมฤตมาเทวดาก็เบี้ยวฮุบน้ำไปหมด และนั้นเองจึงเป็นที่มาของ “แค้นฝังลึก” ของพวกอสูรที่มีต่อเทวดา...(นอกจากเรื่องที่เล่ามาแล้ว สิ่งที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทรนั้นก็มีหลายอย่างแต่ที่เด่นดังก็มี นางอัปสรา กับตำนานราหูอมจันทร์)
    
       เรื่องนี้ ดูๆไปแล้ว “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ว่าพฤติกรรมของเทวดาก็คล้ายๆกับนักการเมืองบางพรรคเชียวแหละ ที่ภาพดูดี แต่จริงๆแล้วเป็นพวกเจ้าเล่ห์เพทุบายเล่นเกมการเมืองอยู่เนืองนิตย์ ส่วนจะเป็นพรรคไหนนั้นหลายๆคนคงเดาได้ไม่ยาก
    
       และนอกจากภาพกวนเกษียรสมุทรแล้ว ที่ระเบียงกำแพงก็ยังมีภาพสลักหินที่น่าสนใจอีก อย่างเช่น ภาพแดนนรก-สวรรค์ ศึกระหว่างเทวดาและอสูร ศึกกรุงลงกา
    
       ส่วนอีกภาพหนึ่งที่คนไทยนิยมไปชมกันมากก็คือภาพกระบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่มีกองทัพสยามร่วมขบวนไปแบบสบายๆ
    
       ทั้งนี้ใครอยากชมภาพแบบมีความต่อเนื่องก็ควรเดินวนขวา ซึ่งเมื่อดูกันเพลินตาเพลินใจแล้ว ทีนี้ก็มาถึงเวลาเดินขึ้นสู่สรวงสวรรค์ที่เป็นการเดินแบบปีนป่าย ขึ้นไปสู่ปรางค์องค์กลางของปรางค์ทั้ง 5 ที่มีความสูงไม่มากแค่ 42 เมตร แต่ว่าการขึ้นสู่ชั้นบนของปรางค์องค์กลางถือว่าทุลักทุเลพอสมควร เพราะบันไดขึ้นนั้นทั้งแคบ ทั้งชัน แม้ว่าจะขึ้นได้หลายทางก็ตาม ทำให้ในการขึ้นหลายๆจังหวะต้องใช้วิธีการเดิน 4 ขาขึ้นไป
    

 
บันไดที่แคบชันเดินขึ้น-ลง สู่ปรางค์กลางที่เปรียบดังสวรรค์ในคติพราหมณ์
       แต่เมื่อขึ้นไปก็ถือว่าค่อนข้างคุ้มเพราะถือว่านี่คือการขึ้นสวรรค์ตามความเชื่อของพราหมณ์ ซึ่งเมื่อมองจากเบื้องบนย้อนลงมาก็จะเห็นวิวมุมสูงของทางที่เดินขึ้นมา นอกจากนี้ข้างบนปรางค์องค์กลางยังมีนางอัปสราสวยๆงามๆ ในหลายหน้าตา หลายทรงผม หลายการแต่งกาย หลายอิริยาบท ให้เลือกชมเลือกจับถันกันอยู่หลายนาง
    
       และหากใครช่างสังเกตก็จะเห็นอัปสรามหาชนที่มีประทุมถันมันวาววับ ซึ่งเหตุผลในความมันวาวนั้นคงไม่ต้องบอกว่าเกิดจากอะไร แต่ถ้าใครอยากรู้ เมื่อไปนครวัดแล้วเดินขึ้นไปถึงยังจุดนั้นก็ลองไปจับถันนางอัปสราเอาเอง
    
       ส่วนใครที่เพลิดเพลินกับทิวทัศน์ ลวดลาย และนางอัปสราแล้ว ทีนี้ก็ถึงคราวเดินลง ใครที่ว่าขาขึ้นเสียวแล้ว ขาลงเสียวกว่า แต่ว่าหากเดนลงทางฝั่งที่มีราวเหล็กเล็กๆไว้ให้จับก็จะเดินลงได้ไม่ยากลำบากนัก
    
       ครั้นเมื่อเดินลงมาถึงเบื้องล่างคราใด ก็รู้สึกโล่งใจทุกครั้ง ที่สามารถกลับลงมาแบบปลอดภัยไร้กังวล และนอกเหนือจากความโล่งใจแล้ว เราก็ยังรู้สึกสมใจที่ได้มาชมนครวัดปราสาทหินอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
    
       ซึ่งความยิ่งใหญ่ของนครวัดนี้ ครั้งหนึ่งคนเขมรโบราณได้เชื่อว่าเกิดจากการสร้างขึ้นของพระอินทร์(ปรากฏในเรื่อง “ถกเขมร” โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ) เนื่องจากว่านครวัดนั้นหากเข้าไปเดินแล้วจะรู้ว่ายิ่งใหญ่อลังการไม่เหมือนกับการสร้างของมนุษย์เลยจริงๆ
    
       แต่ว่าในความยิ่งใหญ่ของนครวัดนั้น นักประวัติศาสตร์หลายๆคนต่างให้ความเห็นว่านี่คือเหตุแห่งการเสื่อมลงของอาณาจักรพระนคร(ช่วงกลาง)อันเกรียงไกร ก่อนที่จะมารุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งกษัตริย์พระองค์นี้ก็ได้ย้ายศูนย์กลางของเมืองไปอยู่ที่นครธม ส่งผลให้ปราสาทนครวัดถูกทิ้งร้างลงเป็นเวลานับร้อยปี จนเมื่อนักประวัติศาสตร์ตะวันตกอย่าง อองรี มูโอต์ และยอร์ช เซเดส์ ได้มาค้นพบและบุกเบิกจนโด่งดัง ส่งผลให้นครวัดกลายเป็นหนึ่งในปราสาทที่โลกไม่มีวันลืมไปเสียแล้ว
    
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น